เลือกปลั๊กไฟ ราคาหลักร้อย ป้องกันการสูญเสียหลักล้าน (เลือกปลั๊กไฟ ไม่ใช่อะไรก็ได้)

ถ้าให้นึกถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าสักอย่างที่เราเห็นกันทั่วไปทั้งในบ้านหรือที่ทำงานและมีจำนวนมากที่สุด หลายคนน่าจะนึกถึงปลั๊กไฟ เพราะเป็นอุปกรณ์สำหรับต่อพ่วงที่จำเป็นต้องใช้งานอยู่แทบจะตลอดเวลา โดยมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงวิธีดูปลั๊กพ่วงมาตรฐาน มอก.2432-2555 ฉบับล่าสุดกันไปแล้ว ในบทความนี้จะมาพูดกันถึงเรื่องของผลเสียจากการใช้ปลั๊กไฟที่ไม่ได้มาตรฐานกันบ้าง เพื่อให้เราตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินของเราครับ

ไฟไหม้บ้าน เพราะปลั๊กพ่วง

ความสูญเสียจากการใช้ปลั๊กไฟราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน

 หลายครั้งที่เรามักจะได้เห็นข่าวน่าสลดใจเกี่ยวกับเพลิงไหม้ จนทำให้เกิดการเสียชีวิตหรือทรัพย์สินบางคนนั้นถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวเลยก็มี  ซึ่งเวลาเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ข้อสันนิษฐานแรกๆ ก็มักจะเกี่ยวข้องกับไฟฟ้าลัดวงจร ที่ส่วนหนึ่งมาจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ข้อมูลนี้ไม่ได้เป็นการคาดเดาแบบไร้เหตุผลครับ เพราะตามตัวเลขหลังจากการพิสูจน์หลักฐานมักจะเป็นเพราะเรื่องนี้จริงๆ

ยกตัวอย่างเช่นในกรุงเทพมหานครที่เดียว ข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ระบุว่าในปี 2563 มีเหตุไฟไหม้เพราะไฟฟ้าลัดวงจรมากถึง 629 ครั้ง และล่าสุด ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มีไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจรไปแล้ว 104 ครั้ง นอกจากนี้สถิติตั้งแต่ปี 2560-กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากไฟไหม้ 475 ราย เสียชีวิต 56 ราย รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บถึง 37 รายด้วยกัน ซึ่งการตระหนักถึงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโศกนาฏกรรมเหล่านี้ลงได้ อย่างน้อยๆ ก็เพื่อครอบครัวของเราเองเพราะหากเกิดขึ้นแล้วความสูญเสียมันประมาณค่าไม่ได้ครับ

สรุปข้อมูลจำนวนเคสไฟฟ้าลัดวงจร

ปลั๊กไฟราคาหลักร้อย ป้องกันความสูญเสียหลักล้าน

คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่เคยหรือกำลังคิดจะซื้อปลั๊กไฟราคาถูกมาใช้เพราะเห็นว่ามันประหยัดกว่าปลั๊กไฟมาตรฐานที่มีราคาหลักร้อยในขณะที่บางร้านขายแค่หลักสิบเท่านั้น ถ้าคำตอบคือใช่เราอยากให้คุณมาดูข้อเสียของปลั๊กไฟราคาถูกกันว่าทำไมถึงมีโอกาสสร้างความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

1. มีตำแหน่งสายดินแต่ไม่มีการเดินสายจริง!  

หากคุณเป็นคนที่ช่างสงสัยหน่อยและอยากรู้ว่าปลั๊กไฟราคาถูกกับราคาแพงนั้นแตกต่างกันอย่างไร ให้ลองแกะชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาเปรียบเทียบกันบอกเลยว่าจะเห็นได้ชัดเจนว่าทำไมคุณถึงควรเลือกซื้อปลั๊กไฟที่ได้มาตรฐาน มอก. ยกตัวอย่างเช่น ปลั๊กไฟราคาถูกมีการทำตำแหน่งของสายดินเอาไว้ แต่ภายในกลับไม่มีการเดินสายดินแค่ทำหลอกตาเอาไว้ให้เห็นว่ามีเท่านั้น ส่วนปลั๊กไฟมาตรฐานนั้นติดตั้งสายดินมาเรียบร้อย ลองคิดถึงประโยคนี้ “อันตรายถึงชีวิตหากไม่ติดตั้งสายดิน” เห็นไหมว่าไม่คุ้มที่จะเสี่ยง

2. สวม มอก. หลอกขายหรือเจตนาให้เข้าใจผิด

ปลั๊กไฟราคาถูกทั้งที่มียี่ห้อและไม่มียี่ห้อส่วนใหญ่ที่ขายกันในปัจจุบันคือสินค้าที่นำมาเลหลังขายเพราะพอ มอก.2432-2555 ฉบับล่าสุดบังคับใช้ ปลั๊กไฟเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นของที่ห้ามขาย ดังนั้นเพื่อระบายสินค้าให้หมดจึงต้องนำมาลดราคา หรือทำฉลากติดเอาไว้ว่ามี มอก. แต่หากสังเกตดีๆ คุณจะพบว่ามีการสวม มอก.ตัวอื่น เช่น มอก. สายไฟ 11-2531 ไม่ใช่ มอก.ปลั๊กพ่วงจริงๆ เรียกว่าหัวหมอเพื่อให้ขายได้ส่วนผลเสียก็ตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างเราแบบเต็มๆ ปัจจุบันผู้ผลิตปลั๊กพ่วงเริ่มติด QR Code ที่ ตัวปลั๊ก เพื่อให้เราได้แสกนเพื่อตรวจสอบมาตรฐาน มอก.กับเวปไซต์ สมอ. ได้แล้ว เพราะฉะนั้นก่อนซื้ออย่าลืมมองหา QR Code นะครับ

3. งานประกอบชุ่ย!

คำว่าของดีราคาถูกอาจใช้ไม่ได้กับปลั๊กไฟเพราะเพื่อให้ขายได้ในราคาที่ต่ำลงก็ย่อมต้องลดคุณภาพไปด้วย ที่เห็นชัดถนัดตาก็คือเรื่องของงานประกอบ เช่น เต้าเสียบหลวม ที่บางคนอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่าปลั๊กที่หลวมจะส่งผลให้เกิดความร้อนสูงบริเวณหน้าสัมผัส หากมีการสะสมความร้อนมากๆ อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ หรือการบัดกรีที่ไม่ได้มาตรฐานจนเกิดการสะสมความร้อนและละลายก็นำไปสู่ไฟไหม้ได้เช่นกัน ซึ่งไม่คุ้มกันเลยหากอุปกรณ์เครื่องใช้ราคาแพงของคุณอย่างโน๊ตบุ๊กหรือสมาร์ทโฟนต้องมาพังไปเพราะใช้ปลั๊กไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือชาร์จไฟอยู่แล้วเกิดระเบิดขึ้นจนได้รับอันตรายเหมือนที่มีข่าวให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

4. พลาสติกคุณภาพต่ำลามไฟง่าย

หากเป็นปลั๊กไฟที่ผ่านมาตรฐานนั้นตัวพลาสติกจะต้องไม่ลามไฟและทนความร้อนได้ถึง 700 องศา ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าติดไฟไม่ได้แต่พอติดแล้วต้องไม่เป็นสาเหตุให้เกิดการลุกลามของเปลวไฟ โดยหากเป็นปลั๊กไฟคุณภาพต่ำนั้นมักใช้พลาสติกแบบไวนิลหรือพีวีซี ซึ่งติดไฟง่ายและลามไฟได้ ตรงข้ามกับปลั๊กไฟมาตรฐานที่ใช้พลาสติกแบบโพลีคาร์บอเนต และแบบ  ABS ที่ทนทานกว่าและไม่ลามไฟ รวมถึงแข็งแรงทนทานไม่แตกง่ายอีกด้วย

5. ตัวนำไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน

ปกติแล้วตามมาตรฐานทางวิศวกรรมตัวนำไฟฟ้าที่ดีจะต้องเป็นวัสดุทองเหลืองหรือทองแดง ซึ่งมีต้นทุนที่สูง ทำให้ปลั๊กไฟราคาถูกที่ขายกันอยู่นั้นส่วนใหญ่จะใช้เหล็กชุบทองเหลือง หรือเหล็กชุบนิเกิ้ล ซึ่งเหล่านี้นอกจากความสามารถในการนำไฟฟ้าจะต่ำแล้วยังมีการสะสมความร้อนที่สูงกว่าจนเกิดการติดไฟได้ง่าย ยิ่งพอไปรวมกับงานประกอบที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยแล้วความเสี่ยงของผู้ใช้อย่างเราก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

จากข้อมูลข้างต้นคงพอจะทำให้มองเห็นภาพผลเสียของการเลือกใช้ปลั๊กไฟราคาถูกคุณภาพต่ำรวมถึงวิธีการในการสังเกตว่าปลั๊กไฟตัวไหนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและความสูญเสียใหญ่หลวงตามมา ซึ่งที่ 168Watt เราคัดสรรแต่ปลั๊กไฟที่ผ่านมาตรฐานมอก.2432-2555 จากยี่ห้อชั้นนำ รวมถึงตรวจสอบเป็นอย่างดีก่อนที่จะส่งให้ลูกค้าเป็นปลั๊กไฟราคาหลักร้อยที่จะช่วยคุณป้องกันความสูญเสียหลักล้าน สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาได้จากที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ เรามีทีมงานมืออาชีพที่จะคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของปลั๊กไฟมาตรฐานเพื่อให้คุณได้รับสินค้าที่ดีที่สุดและใช้งานได้อย่างอุ่นใจครับ   

ใส่ความเห็น