อธิบาย มาตรฐาน มอก.2432-2555 มอก.ปลั๊กพ่วง

วิธีดูปลั๊กพ่วงมาตรฐาน มอก.2432-2555 ฉบับล่าสุด รู้ไว้ไม่โดนหลอกสวม มอก.

ข้ามคำนำไปเลย

วิธีเลือกปลั๊กพ่วงมาตรฐาน มอก.2432-2555 ฉบับผู้บริโภค เพื่อให้ได้ของดีและใช้งานอย่างอุ่นใจ

มาตรฐาน มอก.2432-2555 หรือ มอก.ปลั๊กพ่วงฉบับล่าสุด ครอบคลุมในหลายส่วน ซึ่งวันนี้เราจะมาสรุปใจความสำคัญให้คุณได้เข้าใจกันอย่างง่ายๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานอย่างเรา

หากพูดถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือชื่อย่อว่า มอก. เชื่อว่าเราน่าจะคุ้นเคยกันมาบ้าง โดยอะไรก็ตามที่เราซื้อมาใช้และมีเครื่องหมาย มอก. ติดเอาไว้บนผลิตภัณฑ์ก็ช่วยให้อุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะทนทานและปลอดภัย รวมถึงคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป ในส่วนของปลั๊กพ่วงนั้นปัจจุบันในบ้านเราอยู่ภายใต้ มอก.2432-2555 ซึ่งเป็น มอก.ปลั๊กพ่วงฉบับล่าสุด ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อใช้บังคับในอุปกรณ์ประเภทปลั๊กพ่วง ซึ่งหลายคนอ่านแล้วอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ วันนี้เราเลยถือโอกาสนำใจความสำคัญของ มอก.2432-2555 ฉบับนี้มาอธิบายให้คุณเข้าใจง่ายขึ้น และใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อปลั๊กพ่วงที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน

มอก.2432-2555 มอก.ปลั๊กพ่วงฉบับล่าสุด ที่ช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้บริโภคอย่างเรา

มอก.2432-2555

“มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” หรือ มอก. ที่ใช้ในบ้านเรานั้น ถูกกำหนดขึ้นโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ใช้เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ในการผลิตรวมถึงนำเข้าสินค้าต่างๆ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ในหลายหมวดหมู่ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นยานยนต์, วัสดุก่อสร้าง, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น ปลั๊กพ่วงด้วย เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ต้องเชื่อมต่อและจ่ายกระแสไฟให้กับอุปกรณ์อื่น

             ก่อนหน้าที่จะมี มอก.2432-2555 ข้อกำหนดต่างๆ ไม่ค่อยมีความชัดเจนทำให้เกิดการลักไก่กันบ่อยๆ ด้วยการเอา มอก. ของอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สวิตช์, สายไฟ, เต้าเสียบ มาติดเอาไว้ ไม่ใช่ มอก. ของปลั๊กพ่วงโดยตรง ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้บริโภคเพราะต้องใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง จนทำให้เกิดความชำรุดเสียหายตามมา ทั้งการละลายหรือลุกไหม้ของตัวปลั๊ก จนถึงความเสียหายร้ายแรงอย่างเพลิงไหม้ นั่นทำให้ทาง สมอ. มีการคลอดมาตรฐาน มอก. 2432-2555 ฉบับนี้ออกมาและเริ่มต้นบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา ผลที่ตามมาหลังการบังคับใช้คือปลั๊กพ่วงหรือรางปลั๊กรุ่นใหม่ที่ออกมาหลังจากนั้นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย

            อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ค้างสต๊อกอีกจำนวนมากที่ทางผู้ขายต้องระบายออกด้วยการขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนเพื่อดึงดูดใจให้เราซื้อใช้ ซึ่งต้องบอกว่าการเห็นแก่ของถูกนั้นบางครั้งอาจส่งผลเสียอย่างประเมินไม่ได้ตามมาอย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในข่าวเกี่ยวกับเพลิงไหม้เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นก่อนซื้อจึงต้องพิจารณาให้ดีว่าปลั๊กพ่วงที่เราสนใจนั้นผ่านมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งวันนี้เราได้สรุปมาให้แล้ว

วิธีเลือกซื้อและสังเกตปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน มอก.2432-2555

สำหรับ มอก.2432-2555 นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยหลายส่วนด้วยกัน แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ใช้อย่างเราโดยตรงนั้นจะประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. มองหาสัญลักษณ์ มอก.2432-2555

มอก.2432-2555

บนตัวปลั๊กพ่วงรวมถึงบรรจุภัณฑ์จะต้องมีสัญลักษณ์ มอก.2432-2555 ติดเอาไว้อย่างชัดเจนเพื่อยืนยันว่าผ่านการรับรองมาตรฐานนี้ ซึ่งในฐานะผู้ใช้อย่างเราไม่ควรมองข้ามการสังเกตเพื่อให้มั่นใจว่ากำลังซื้อปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน

2. ต้องผลิตจากวัสดุที่ไม่ลามไฟ

มอก.2432-2555

ปลั๊กพ่วงหรือรางปลั๊ก ตามมาตรฐาน มอก.2432-2555 นั้นต้องทำจากวัสดุที่ไม่ติดไฟหรือลามไฟ ไม่ว่าจะเป็นฝาครอบหรือกล่องปลั๊กโดยต้องเป็นวัสดุ พลาสติกเอวีซี, พลาสติก ABS หรือโพลีคาร์บอเนต ที่ผ่านมาตรฐาน UL94 ซึ่งในการเลือกเราสามารถอ่านได้จากฉลากสินค้าว่าใช้วัสดุในการผลิตเป็นอะไร การเลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่ทำจากวัสดุไม่ลามไฟจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ลงได้เยอะเลยทีเดียว ปลั๊กพ่วงเป็นแหล่งรวมความร้อนสะสม เมื่อเราใช้งานอย่างต่อเนื่องยาวนาน ปลั๊กที่ไม่ผ่านมอก.อาจร้อนจนเกิดอาการติดไฟ หรือ ลามไฟและเป็นต้นเหตุของไฟไหม้ได้

3. บอกลาขาแบน เต้าเสียบต้องเป็นขากลม 3 ขาเท่านั้น

มอก.2432-2555

หัวปลั๊กหรือเต้าเสียบตามมาตรฐาน มอก.2432-2555 นั้นต้องเป็นแบบขากลม 3 ขา ส่วนขาแบนนั้นทางการได้สั่งห้ามไม่ให้มีการผลิตออกมาเพิ่มทำได้แค่ขายของเก่าให้หมดเราจึงมีโอกาสเห็นปลั๊กขาแบนออกมาขายลดราคากันแบบถูกแสนถูก เพราะผู้ค้าที่สต็อคสินค้าไว้ต้องการระบายของก่อนที่ปลั๊กที่ไม่ได้มาตรฐานจะค่อยๆหมดไปจากตลาดในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องติดตั้งฉนวนกันไฟที่โคนขาเพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า และเมื่อนำไปใช้งานเต้ารับกับเต้าเสียบต้องไม่หลวมเพื่อลดอันตรายจากการที่ปลั๊กเกิดความร้อนสูงซึ่งอาจก่อให้เกิดไฟไหม้ตามมา  

4. เต้ารับต้องมีช่อง L N G และม่านนิรภัย พร้อมสายดินจริง

มอก.2432-2555

เต้ารับของปลั๊กพ่วงตาม มอก.2432-2555 ต้องต่อช่อง L N G (Line Neutral Ground) ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน และต้องมีม่านนิรภัยปิดเต้ารับเอาไว้ เพื่อป้องกันวัสดุแปลกปลอมเข้าไปภายใน หรือป้องกันการแหย่นิ้วมือลงไปของเด็ก นอกจากนี้ในส่วนของสายดินต้องเป็นสายจริงห้ามทำสายดินหลอก หรือกราวน์หลอกเหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ (ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตบางรายทำกราวน์หลอก คือ มีแต่รูสำหรับเสียบ เพื่อให้สามารถเสียบใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเต้าเสียบแบบมีสายดินได้ แต่ถ้าเกิดกรณีมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสนั้นจะไม่สามารถจะไหลลงดินทางสายดินได้)

5. สวิตช์ต้องได้มาตรฐาน

มอก.2432-2555

สำหรับปลั๊กพ่วงในรุ่นที่มีสวิตช์นั้น เราควรต้องดูรายละเอียดของตัวสวิตช์ด้วยว่าผ่านมาตรฐาน มอก.824-2551 หรือไม่ โดยสามารถอ่านได้จากข้อมูลของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ตามมาตรฐาน มอก.2432-2555 ไม่ได้บังคับว่าปลั๊กพ่วงทุกตัวต้องใส่สวิตช์

6. สายไฟต้องเป็นสายกลม

มอก.2432-2555

ในส่วนของสายไฟของปลั๊กพ่วงตามมาตรฐาน มอก.2432-2555 นั้น สังเกตง่ายๆ ว่าจะต้องเป็นสายกลมเท่านั้น นอกจากนี้เรายังสามารถดูในเรื่องของมาตรฐานของสายไฟว่าต้องผ่าน มอก.11-2553 หรือ มอก.955 รวมถึงต้องใช้สายกลมที่แรงดันไฟฟ้าไม่ต่ำกว่าเต้าเสียบและเต้ารับด้วย

7. ปลั๊กพ่วงที่มีเต้ารับตั้งแต่ 3 เต้าขึ้นไป จะต้องมีตัวตัดไฟ หรือมีเบรกเกอร์ในตัว และไม่ใช้ฟิวส์

มอก.2432-2555

ปลั๊กพ่วงที่มีเต้ารับตั้งแต่ 3 เต้าขึ้นไป จะต้องมีตัวตัดไฟ หรือ เบรกเกอร์. ตัวตัดไฟที่อนุญาติคือแบบ Thermal Circuit Breaker หรือ RCBO ไม่อนุญาตให้ใช้ฟิวส์อีกต่อไป

8.สังเกตแรงดันไฟฟ้าและการรองรับกระแสไฟฟ้า

มอก.2432-2555

สำหรับมาตรฐานมอกปลั๊กพ่วงนี้ ครอบคุม ปลั๊กที่มีการรับไฟ ตั้งแต่ 50V ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 440V และห้ามมีแอมแปร์ห้ามมากกว่า 16A สำหรับการใช้งานภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งในส่วนนี้สามารถดูได้จากกล่องหรือตัวสินค้าหากเป็นปลั๊กที่อยู่นอกขอบข่ายนี้ ก็จะไม่เข้าข่ายต้องมี มอก.2432-2555

จะเห็นได้ว่า มาตรฐาน มอก.2432-2555 นั้นครอบคลุมในหลายส่วนของปลั๊กพ่วงที่เราใช้งานกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ในการผลิต, ระบบการควบคุมกระแสไฟ, ดีไซน์การออกแบบที่ระบุเอาไว้ชัดเจนในแต่ละส่วน, รายละเอียดการใช้งานและส่วนเสริมต่างๆ ซึ่งในแง่ของผู้บริโภคนั้นก็ช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น อายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยแม้ราคาโดยเฉลี่ยอาจจะสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ในระยะยาวรวมถึงคุณภาพที่ได้รับก็ถือว่าเหมาะสมและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงต่อการชำรุดของอุปกรณ์อื่นๆ และอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรลงได้ด้วย หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณสามารถเลือกซื้อปลั๊กพ่วงมาตรฐานเอาไว้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม แล้วพบกันใหม่กับสาระดีๆ ที่เราจะนำมาฝากคุณในครั้งต่อไป

มอก.2432-2555

ใส่ความเห็น